สุขภาพ

“กล้ามเนื้อสลาย” จากการออกกำลังกายหนักแต่ไม่ฟิตระวัง”ไตวายเฉียบพลัน”

ไตวาย กลายเป็นภัยเงียบในปัจจุบันเพราะมีปัจจัยหลากหลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคมากขึ้นโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยประเทศไทย มีผู้ป่วยไตเรื้อรัง จำนวน 11.6 ล้านคน และมีจำนวนมากกว่า 1 แสนคนที่ต้องล้างไต และจากรายงานของ The United States Renal Data System (USRDS) พบว่า ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคไตสูงที่สุดด้วย ซึ่งโรคไตสามารถเกิดได้หลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนไม่เคยรู้ คือ “ภาวะกล้ามเนื้อสลาย” ภาวะดังกล่าวคืออะไร ?

สุขภาพ

รายงานว่า พบผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อสลายในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 25,000 ราย โดยมีมากถึง 5-30% ที่พบภาวะไตวายเฉียบพลันและคิดเป็น 15% ของผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันทั้งหมด

กล้ามเนื้อสลาย (Rhabdomyolysis) คือ ภาวะที่ร้ายแรงทางการแพทย์ ซึ่งการสลายของกล้ามเนื้อเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อโดยตรง หรือจากการออกแรงของกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะการวิ่งระยะไกลและการวิ่งลงเนิน นอกจากนี้ กล้ามเนื้อสลายยังเกิดจากอาการกดทับจากอุบัติเหตุ รวมถึงผลกระทบจากยาบางชนิดและพันธุกรรม

ความร้อน ภาวะขาดน้ำและการออกกำลังกายหรือกีฬาแบบเอ็กซ์ตรีมเป็นสาเหตุร่วมที่พบบ่อยที่สุด เมื่อเกิดการบาดเจ็บ กล้ามเนื้อลายเป็นกล้ามเนื้อที่พบเป็นส่วนใหญ่ ประมาณ 40% ของมวลกาย มีหน้าที่สำคัญคือทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆ) จะปล่อยโปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin) ซึ่งมีขนาดใหญ่สีแดง ทำหน้าที่เก็บออกซิเจนในเซลล์กล้ามเนื้อ

รวมถึงปล่อยเอนไซม์ซีเค (Creatine kinase: CK) ซึ่งเซลล์ต่างๆ ใช้ช่วยในการทำงานและปล่อยเกลือแร่ เช่น โพแทสเซียม แคลเซียม เมื่อโปรตีนไมโอโกลบิน เอนไซม์ซีเคและเกลือแร่ รั่วไหลออกจากเซลล์ที่เสียหายเข้าสู่กระแสเลือด นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนมากมาย เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น และภาวะไตวาย

ภาวะกล้ามเนื้อสลาย เกิดขึ้นกับใครได้บ้าง ?

  • สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่พบในเพศชาย เชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน
  • ผู้มีภาวะโรคอ้วน
  • อายุมากกว่า 60 ปี

พบอัตราการเสียชีวิตที่ไม่มีภาวะไตวาย ประมาณ 20% และเสียชีวิตมากถึง 50% สำหรับผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย ที่น่าสนใจคือ 10 – 30% ของภาวะกล้ามเนื้อสลายมีสาเหตุจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ ที่เกิดจากการออกกำลังกาย

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อสลาย แบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

สาเหตุทางกายภาพ

  • นักวิ่งที่เพิ่มความเข้มข้นในการฝึกซ้อมอย่างกะทันหัน หลังจากช่วงเวลา ปรับสภาพร่างกาย เช่น การฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการพักการฝึก
  • การออกกำลังกายหรือใช้แรงอย่างหักโหม เช่น วิ่งมาราธอน
  • การแข่งกีฬาในระดับความหนักและนานกว่าที่เคยฝึกซ้อมมากๆ
  • การฝึกซ้อมหรือการแข่งขันในขณะที่ขาดน้ำ ในวันที่อากาศร้อนจัด หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ เป็นเวลานาน
  • อุบัติเหตุรุนแรงต่อกล้ามเนื้อในลักษณะบด อัด กด ทับ (Crush injury) เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ดินถล่ม
  • การชักเกร็งอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคลมชัก

สาเหตุที่ไม่ใช่ทางกายภาพ

  • ผลกระทบจากการรับประทานยาสแตติน เพื่อลดคอเลสเตอรอล ยาแก้แพ้ ยาแก้คลื่นไส้ และยาทางจิตเวช รวมถึงยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS)
  • อาการป่วยจากไวรัสหรือการติดเชื้อแบคทีเรีย ปัญหาต่อมไร้ท่อ ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
  • ภาวะกล้ามเนื้อขาดเลือด เช่น ภาวะติดเตียงเป็นเวลานาน
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การผ่าตัด หรือได้รับยาสลบ

สัญญาณเตือนภาวะกล้ามเนื้อสลาย

  • ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง
  • ปัสสาวะลดลง หรือปัสสาวะมีสีโค้ก

นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ ซึ่งอาจแสดงออกหลังออกกำลังกาย นานถึง 24 – 48 ชั่วโมง เช่น

  • อัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ปวดข้อ
  • สับสน
  • อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ภาวะขาดน้ำ
  • ปวดท้อง
  • เอนไซม์ซีเค เพิ่มขึ้น 5-10 เท่าจากระดับปกติ (สามารถวัดได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น)

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อสลาย

ในผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อสลายจากการบาดเจ็บ ควรเริ่มต้นด้วยการให้น้ำเกลือโดยเร็วที่สุด ความล่าช้าในการช่วยชีวิตอาจทำให้ช็อกจากการขาดน้ำ (Hypovolemic Shock) ควรให้ของเหลวในปริมาณมากถึง 10 – 20 ลิตรเพื่อรักษาน้ำภายในหลอดเลือดและช่วยขับสารพิษออกทางปัสสาวะ เมื่อผู้ป่วยรับการรักษาในโรงพยาบาล การตรวจติดตามปริมาณปัสสาวะอย่างใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการตรวจสอบระดับ CK แบบต่อเนื่องทุกวัน นอกจากนี้ภาวะกล้ามเนื้อสลายยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของไต ภาวะขาดสมดุลของโพแทสเซียม แคลเซียม กรดยูริก และฟอสเฟต จึงจำเป็นต้องรักษาระดับเกลือแร่ให้สมดุล

ดูแลตัวเองอย่างไร ให้สมดุลไม่ไตวายจากการออกกำลังกาย

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการดื่มก่อนออกกำลังกาย
  • หากมีการวิ่งในระยะไกลต้องซ้อมและฟิตร่างกายให้พร้อม
  • ไม่ออกกำลังกายหนักหักโหมเกินไป ต้องมั่นใจว่าซ้อมมากพอที่ร่างกายจะรับการออกกำลังกายหนักๆ ได้
  • ห้ามให้ร่างกายขาดน้ำ
  • เติมโพแทสเซียมขณะออกกำลังกายหนักๆ ด้วยการทานกล้วย และดื่มเครื่องดื่มเพิ่มเกลือแร่

ติดตามข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจได้ที่นี่ : วิธีเช็ก “ฟ้าทะลายโจร” ของจริง VS ของปลอม ต่างกันอย่างไร?

By admin