มุมมองผู้บริหาร Adobe ต่อ Generative AI เราไม่สามารถจำกัดความคิดสร้างสรรค์ ในคีย์เวิร์ดไม่กี่คำได้
กระแสของ Generative AI โดยเฉพาะงานภาพอย่าง Midjourney, Stable Diffusion, Dall-E กำลังเป็นที่จับตามองในเชิงครีเอทีฟ เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถสร้างงานศิลปะ ภาพวาด ภาพถ่ายเสมือนจริงได้ในไม่กี่คลิก เพียงแค่ป้อนคีย์เวิร์ดไม่กี่คำ
และถ้าพูดถึงซอฟต์แวร์การทำงานเชิงครีเอทีฟแล้ว top of mind ของใครหลายคนก็จะนึกถึง Adobe ผู้สร้างซอฟต์แวร์เพื่อการออกแบบที่คนไทยใช้กันอย่าง Lightroom, Photoshop ฯลฯ แล้ว Adobe มีมุมมองต่อ Generative AI ในงานภาพอย่างไร
Simon Dale กรรมการผู้จัดการประจำเอเชียแปซิฟิกและเกาหลี ของ Adobe ให้มุมมองว่า สุดท้ายแล้ว คนในสายอาชีพครีเอทีฟ หรือคนที่มี creative mind สามารถใช้ AI เป็นผู้ช่วยได้ แต่เราไม่สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ทั้งหมด ไปจบที่คำหรือคีย์เวิร์ดไม่กี่คำได้
Simon บอกด้วยว่า จริงๆ แล้วการใช้ AI มาช่วยในงานออกแบบไม่ใช่เรื่องใหม่ อย่างโปรแกรมต่างๆ ของ Adobe Creative Cloud ก็มี AI เป็นผู้ช่วยมานานแล้วคือ Adobe Sensei
อธิบายเพิ่มเติม Adobe Sensei คือ Machine Learning ที่ช่วยให้นักออกแบบทำงานเร็วขึ้น เช่น ไดคัทให้อัตโนมัติ เกรดสีให้อัตโนมัติ ลบวัตถุในงานวิดีโอ เป็นต้น
Simon ยังแสดงข้อกังวลถึง Generative AI เหล่านี้ในแง่ของลิขสิทธิ์ด้วย เพราะผลงานที่นำมาเป็นดาต้าให้ AI เรียนรู้ เป็นผลงานที่มีเจ้าของ ความท้าทายต่อไปคือ บริษัทผู้พัฒนา Generative AI จะสร้างรายได้ในระยะยาวอย่างไร และจะจัดการกับปัญหาลิขสิทธิ์ยังไง
ภาพรวมตลาดครีเอทีฟ ไทย-เกาหลีใต้
จากการพูดคุยกับคุณ Simon ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความแตกต่าง ระหว่างตลาดไทยและเกาหลีใต้ในเชิงครีเอทีฟ พบว่า ไทยนั้น Image Market เติบโตสูงมาก และ Adobe Lightroom แอปพลิเคชั่นปรับแต่งรูปภาพได้รับความนิยมสูงในไทย
และเมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ Video Market เติบโตสูง ทำให้โปรดักต์อย่าง Adobe Premiere Pro ได้รับความนิยมสูงมากตามไปด้วย ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อยอดมาจากซอฟต์พาวเวอร์เกาหลีทั้ง ซีรีส์ KPOP ไปจนถึงจำนวนครีเอเตอร์ที่สูงขึ้น ซึ่งคุณ Simon คาดการณ์ว่า ตลาดครีเอทีฟในเกาหลีนั้น มีมูลค่าระดับแสนล้านดอลลาร์เลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็มีโอกาสจากตลาดนี้อยู่มาก ไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ Adobe ให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์ และในเร็วๆ นี้จะมีการจัดอีเว้นท์พบปะครีเอเตอร์ไทยด้วย
5 ประเด็นอินไซต์ดิจิทัลมาร์เกตติ้ง จาก Adobe
Adobe นอกจากมีโปรดักต์ในสายครีเอทีฟแล้ว ยังเจาะการตลาดดิจิทัลมาได้พักใหญ่ โดยมีผลิตภัณฑ์ชื่อว่า Adobe Experience Cloud คือเครื่องมือรวบรวมข้อมูล สร้าง วิเคราะห์แคมเปญการตลาด และเป็นเครื่องมือจัดการแชนเนลปลายทางต่างๆ ขององค์กรในการ launch แคมเปญ และยังใช้ Adobe Sensei เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วย
ซึ่ง Adobe เปิดเผยเทรนด์การตลาดดิจิทัลออกมาทุกปี และล่าสุดได้สรุปเทรนด์ที่ต้องติดตาม จากการทำวิจัยเซอร์เวย์ผู้บริหารในหลายองค์กรทั่วโลกออกมาเป็น 5 ประเด็นคือ
1] 89% ของผู้บริหารระดับสูง เชื่อว่าความคาดหวังของลูกค้าพุ่งสูงขึ้น
การเปลี่ยนไปสู่โลก digital-first ทำให้ลูกค้าคาดหวังว่าจะได้รับประสบการณ์ดิจิทัล ที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อตั๋วภาพยนตร์ การซื้อวัสดุหรือสิ่งของจำนวนเยอะๆ สำหรับร้านค้า การตรวจสุขภาพประจำปี หรือการรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้าน
2] ผู้บริหารระดับสูงถึง 85% ยังมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจ
81% ของผู้บริหารระดับสูง รู้สึกไม่แน่ใจหรือมองโลกในแง่ร้ายอย่างมากเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ
แม้ข้อมูลจาก Adobe Digital Price Index ของสหรัฐฯ บ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังชะลอตัว แต่ผู้บริหารระดับสูงยังคงมีความกังวลซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติ ที่จะส่งผลต่อการวางแผน และการเตรียมแบรนด์ให้พร้อมสำหรับความสำเร็จ
ซึ่งในช่วงเวลาที่ไม่อาจคาดเดาได้นี้ การเติบโตของธุรกิจ คือการทำให้ลูกค้าทุกคนได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เป็นวิธีที่จะรักษาฐานลูกค้าเอาไว้
3] ประมาณครึ่งหนึ่ง (49%) ของพนักงานในหน่วยงาน agency มองว่า ลูกค้ามีเทคโนโลยี AI, Machine Learning แต่ไม่เคยใช้ หรือใช้ไปแล้วแต่ไม่รู้ตัว
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่งที่ธุรกิจจำนวนมาก ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนด้านเทคโนโลยี ในช่วงเวลาที่ AI ดูเหมือนจะมีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่กราฟิกที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์ไปจนถึงการสนทนาที่เขียนโดยบอท แต่ทั้งหมดนี้บ่งชี้ว่ายังมีช่องว่างสำหรับกระบวนการอัตโนมัติ การลดขั้นตอนการทำงาน และเวิร์คโฟล์ว ซึ่งดูเหมือนว่าทุกคนมีความครีเอทีฟมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีที่กำลังใช้อยู่
4] ผู้บริหารระดับสูงมากถึง 89% เชื่อว่าความต้องการคอนเทนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
เซอร์เวย์นี้ สะท้อนให้เห็นแรงกดดันในการสร้างคอนเทนต์ ว่ากำลังพุ่งสูงขึ้นทั่วโลก และกลายเป็นแรงกดดันสำหรับผู้บริหารระดับสูง ด้วยเหตุนี้ วางแผนคอนเทนต์และการสร้างคอนเทนต์ รวมถึงการ streamline กระบวนการสร้างและคอนเทนต์ จะเป็นเป้าหมายหลักของหลายๆ องค์กรธุรกิจในปีหน้า
5] 1 ใน 5 (22%) ของผู้บริหารระดับสูงกล่าวว่า องค์กรยังคงเรียนรู้เกี่ยวกับการทำการตลาดในเมตาเวิร์ส
แม้กระแสเมตาเวิร์สจะซลเซาลงไป แต่ผลสำรวจความคิดเห็นชี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงยังไม่ทิ้งเมตาเวิร์สเสียทีเดียว และยังมีถึง 22% ของการสำรวจที่ยังศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์สอยู่
อ่านข่าวเพิ่มเติม : EA เปิดตัว รถกระบะไฟฟ้ารุ่นแรกของไทย